วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

10 ข้อดีของอาชีพแอร์โฮสเตส และเรื่องจริงของอาชีพ แอร์โฮสเตส

ข้อดีของอาชีพแอร์โฮสเตส

1. พวกเธอเงินเดือนเยอะ ขนาดน้องใหม่เพิ่งบินยังต้องร้อง "ว้าว!!"

2. ได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ สิ่งนี้แหล่ะที่ทำให้สาวๆเกือบค่อนโลกอยากทำอาชีพนี้

3. อยากไปเที่ยวต่างประเทศก็แสนจะง่ายดาย เพราะซื้อตั๋วเครื่องบินได้ในราคาพนักงานอันแสนจะถูก เช้าบินไปช๊อปปิ้งที่ฮ่องกง เย็นๆค่อยบินกลับ อะไรจะเริ่ดกว่านี้อ่ะเธอ

4. ได้สวมชุดยูนิฟอร์มอันแสนมีเกียจติ ดูปุ๊บก็รู้ป๊าบว่าทำงานอะไร

5. เป็นแอร์ฯไม่ต้องคิดมาก เครื่องแตะพื้นเมื่อไรเป็นอันสแตนบาย

6. มีโอกาสสูงที่ได้เป็นแฟนกับกัปตันหนุ่มรูปหล่อ เพราะได้ใกล้ชิดมากกว่าอาชีพอื่น

7. ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องเข้าคิวตอกบัตร์ทำงานเหมือนใคร ถึงสนามบินเมื่อไรก็ทำงานได้ทันที

8. เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ถ้าบริการผู้โดยสารดีๆจะได้รับการชื่นชมเป็นอย่างสูง

9. อาทิตย์หนึ่งบินแค่ 2-3 วัน อีก 4 วันก็พักเริ่ดๆแล้ว แถมยังมีเวลาไปเสริมสวย ไดร์กอร์ฟ สปา ทำเล็บ ฯลฯ

10. สวยได้ในแบบฉบับของแอร์ฯ เป็นหน้าตาของสายการบิน อยากสวยได้ในทุกโอกาสไม่มีใครว่า



ข้อเรื่องจริงของอาชีพแอร์โฮสเตส

1. กว่า 70% ของผู้ที่สอบเป็นแอร์ฯ ต้องตกรอบเป็นจำนวนมาก เพราะทางสายการบินเขาคัดเลือกผู้ที่เหมาะกับความเป็นแอร์ฯจริงๆ (คุณสมบัติต้องครบถ้วนว่างั้น)

2. ความจริงเงินเดือนก็ไม่ได้เยอะมากนักหรอก ถ้าเดือนไหนบินน้อย เงินเดือนก็จะน้อยตามไปด้วย

3. ที่บอกว่าได้เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศน่ะ บางทีก็ได้อยู่แค่โรงแรมใกล้ๆและสนามบิน โอกาสน้อยมากที่จะได้ไปเดินโฉมฉายข้างนอกอ่ะ แอร์ฯใหม่ๆบางคนหวังอยากจะบินนอก แต่กลับให้บินแค่เฉพาะในประเทศเพื่อสะสมประสบการณ์ บินวนไปวนมา เมื่อคราวบินนอกจริงๆ คุณก็เบื่อไปซะแล้ว

4. สิ่งของล่อตาล่อใจสูงมาก เจอกระเป๋าใบละหมื่น อดไม่ได้ โอกาสที่จะมีเงินเก็บเหมือนคนอื่นๆแทบเท่ากับ 0

5. ต้องทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่ล้างห้องน้ำ ล้างถ้วยล้างชาม ขายของปลอดภาษี (ด้วยรถเข็นอันแสนหนักT_T)

6. ต้องปวดหัวกับผู้โดยสารจอมจู้จี้ คนนี้จะเอานั้น คนโน้นจะเอานี้ วุ่นวายไปหมด เผลอๆบริการช้าอาจเจอเทศน์ไปโดยปริยาย

7. ถ้าผู้โดยสารพักผ่อน หรือหลับตลอดเส้นทาง นั้นก็ยังเป็นเวลาทำงานของแอร์ฯ ถ้าอยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไร กัปตันจะหันมามองด้วยสายตาที่ว่า "ทำงานหรือเปล่าจ๊ะน้อง"

8. วันไหนที่ได้หยุดพัก ไม่ได้แสดงว่าหยุดทำงาน ถ้าได้รับโทรศัพท์จากสายการบินเมื่อไร เตรียมตัวทำงานเมื่อนั้น

9. ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่ซักเสื้อผ้าและอื่นๆสารพัดเมื่อไปพักต่างประเทศ แอร์ฯบางคนอยู่ที่บ้านยังมีคนรับใช้ทำงานให้เยอะถมไป

10. อาชีพแอร์ฯต้องแข่งกับเวลา ทางสายการบินตรวจตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม เล็บ ไม่ใช่อยากสวยยังไงก็ได้ตามใจฉัน

credit : www.unigang.com

คุณสมบัติตามมาตรฐาน และคำแนะนำการเป็น แอร์โฮสเตส

รูป แอร์โฮสเตส นางฟ้าบนเครื่องบิน กับชุดสวย หลากหลายสายการบิน (1/30)

ถ้าพูดถึงอาชีพที่ผู้หญิงไฝ่ฝันอยากจะทำมากที่สุด อาชีพ แอร์โฮสเตส คงเป็น 1 อาชีพต้นๆ ที่ผู้หญิงฝันอยากจะได้เป็นนางฟ้าบนเครื่องบิน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีรายได้ค่อนข้างดี และได้พบปะผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ได้ท่องเที่ยวในหลายประเทศ

วางแผนเป็นแอร์โฮสเตส 

1.  เริ่มจากการเลือกเรียนสาขาที่มีการใช้ภาษาสูงอย่าง สายศิลป์ภาษา
2.  ระดับปริญญาตรี ไม่จำกัดสาขา หากมีความสามารถด้านภาษาและความมั่นใจพร้อม แต่หากให้แนะนำคงต้องเลือกเรียนเป็นคณะมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ
3.  เลือกติว หรือ อบรมคอร์สแอร์โฮสเตส เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เรารู้ขั้นตอนเกือบทั้งหมดในการสมัครอาชีพแอร์โอสเตส

คุณสมบัติตามมาตรฐาน

1. หากเป็นผู้ชายต้องมีส่วนสูง 165 ซม. ขึ้นไป ผู้หญิงต้องมีส่วนสูง 160 ซม. ขึ้นไป (บางสายการบินก็มีนะคะที่รับ 150 กว่าๆ)
2. แอร์โฮสเตส และ สจ๊วต ควรมีน้ำหนักที่สัมพันธ์กับส่วนสูง โดยมีอัตราน้ำหนักขั้นต่ำของชาย ต้องลบส่วนสูงด้วย100 / หญิง ลบส่วนสูงด้วย 110
3. มีบุคลิกภาพที่ดี สุขภาพสมบูรณ์ ร่างกายไม่เป็นผู้ทุพลภาพ ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือโรคที่สังคมรังเกียจ และโรคที่อาจเป็นผลเสียในการทำงานบนเครื่องบิน
4. ความรู้ขั้นต่ำ คือควรจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่6 – ปริญญาตรีทุกสาขา
5. ถ้าเป็นชายต้องมีใบสำคัญผ่านทหาร
6. อายุของผู้ชายที่จะมาสมัครต้องมีอายุระหว่าง 21 - 28 ปี ผู้หญิงต้องมีอายุ 21 – 26 ปี อันนี้คือค่าเฉลี่ย แต่ก็มีบางสายการบินเหมือนกันที่จะรับคนที่มีอายุมากกว่านี้
7. ต้องเป็นผู้ที่สายตาดีไม่สั้น แต่ถ้าสายตาสั้นก็สามารถใส่คอนแทคเลนส์ได้ห้ามใส่แว่นตาเด็ดขาด
8. มีสุขภาพฟันดี ถ้าฟันเสียต้องไปทำฟันมาให้เรียบร้อย ควรขูดหินปูนเป็นประจำ
9. ต้องมีความรู้ภาษาต่างประเทศ ภาษาบังคับ คือ ภาษาอังกฤษ มีผลสอบโทอิคอย่างต่ำ 600 คะแนน(จากคะแนเต็ม 990 คะแนน)
10. บางสายการบินอาจให้มีการสอบว่ายน้ำด้วย ดังนั้นผู้ที่จะสมัครควรที่จะว่ายน้ำเป็น
11. ควรหัดแต่งกายให้มีความเคยชิน เพราะการแต่งกายที่ดีทำให้เป็นที่สนใจแก่ผู้ที่พบเห็น ดังนั้นผู้ชายต้องสวมเสื้อเชิ้ตขาว กางเกงสแล็คสีดำ ผูกเน็คไท ส่วนผู้หญิงต้องสวมประโปรงชุดทำงานแบบสาวออฟฟิศ ทำผมให้สุภาพ เช่น รวบผมให้ตึง เก็บมวยผมห้ามปล่อย สวมรองเท้าคัชชูหุ้มส้นสูงไม่เกิน 2 นิ้ว สวมถุงน่อง
12. ควรเป็นโสด ผู้หญิงที่มีแฟนแล้วไม่เป็นไร แต่ถ้าจดทะเบียนสมรสแล้วอาจจะหมดสิทธิ์ได้
13. ไม่มีรอยสักในจุดที่มองเห็นได้อย่างเปิดเผย
14. หูไม่ตึง
15.ไม่ติดยาเสพติด
16. ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม

• การฝึกอบรม 

  “สัปดาห์แรกของเราพอเข้ามาปุ๊บต้องเทรนเรื่องเวชศาสตร์การบิน 5 วัน เรียนเรื่องยา การทำคลอด คือสามารถเป็นผู้ช่วยแพทย์ได้ในกรณีที่มีแพทย์อยู่ด้วย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การให้ยาท้องเสีย ท้องอืด หอบกับหืดต่างกันยังไง ลักษณะโรคต่างกันยังไง เทรนตรงนี้ 5 วัน พอเสร็จตรงนี้ก็จะถูกส่งมาฝึกทางด้านความปลอดภัยของแต่ละชนิดเครื่องบิน อุปกรณ์ฉุกเฉินอยู่ตรงไหน ฝึกดับไฟก็ต้องดับไฟจริงๆ ลงน้ำก็ใช้ชูชีพ ใช้ชูชีพยังไง อยู่ยังไง รักษาความอบอุ่นกันยังไง ในกรณีที่เราต้องดำรงชีวิตอยู่ในทะเล กระเป๋ายา อุปกรณ์ฉุกเฉิน แล้ก็ค่อยฟังคำสั่งว่าเราจะไปด้วยกันยังไง ถึงตอนนี้เราจะต้องทำอย่างนี้ๆ นะ ขั้นตอนการให้บริการผู้โดยสาร ในส่วนของอาหารต้องเรียนแม้กระทั่งประโยชน์สมุนไพร โภชนาการ วิธีการประกอบอาหาร อาหารอย่างนี้ประกอบยังไง เพราะบางคนบางศาสนาผู้โดยสารอาจทานไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือบางคนทานมังสวิรัติ ก็ต้องรู้ บางคนทานแป้งสาลีไม่ได้เพราะเลือดจะออกในกระเพาะ ก็จะมีอาหารอีกประเภทสำหรับคนประเภทนั้น รายละเอียดเยอะมาก ถ้าเป็นเครื่องดื่มอย่างเช่นในไวน์แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร เหมาะกับอาหารประเภทไหน กิริยามารยาทก็ต้องฝึก เช่น ไม่ใช้การชี้นิ้วมือ แต่ใช้การผายมือแทน เพราะสุภาพกว่า ซึ่งตรงนี้คุณครูจะสอนมารยาทละเอียดมาก” การอบรมใช้เวลาทั้งสิ้น 8 สัปดาห์ เมื่อผ่านอบรมแล้วก็จะได้ขึ้นเครื่องจริงๆ เพื่อทดลองงาน เที่ยวบินแรกของสุตาคือพม่า เธอบอกตื่นเต้นมาก งานของเธอบนเที่ยวบินแรกคือการขึ้นไปช่วยงานบริการพี่ๆ แอร์โฮสเตสถือเป็นการสังเกตการณ์ เรียนรู้งาน ไฟลท์สังเกตการณ์จะมีทั้งหมด 4 ครั้งเมื่อบินเสร็จแล้วต้องกลับมาเข้าคลาสเรียนอีก ครูผู้อบรมจะให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันว่าไปบินแล้วรู้สึกอย่างไง โดยคุณครูจะคอยเพิ่มเติมความรู้ให้ตลอด

• เส้นทางการทำงาน 

 หลายคนคงอยากรู้ว่า แอร์โฮสเตส ทำงานกันอย่างไง สุตาเล่าให้ฟังว่าพวกเธอต้องมาก่อนไฟลท์ที่จะบิน 2 ชั่วโมงโดยมาพบกันที่สำนักงานกลาง ทุกคนต้องศึกษาว่าวันนี้จะบินไปที่นั่นที่นี่ เวลาต่างกันเท่าไหร่ ต้องรู้ว่ากัปตันครั้งนี้ชื่ออะไร พี่หัวหน้าแอร์คือใคร อินไฟลท์เมเนเจอร์เป็นใคร มีบริการแบบไหน มีเรื่องพิเศษอะไรบ้างมีผู้โดยสารที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษยังไง อาหารที่เสิร์ฟ เครื่องดื่มวันนี้เป็นยังไง นอกจากนั้นทุกคนจะต้องดูวีดีโอเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องนั้นๆ ที่โดยสาร เพื่อทบทวนและมีการทดสอบกันอีกทีในห้องก่อนที่จะออกไปสนามบินด้วยกัน “แล้วเราจะต้องมาถึงเครื่องก่อนประมาณ 1 ชั่วโมง พอไปยืนบนเครื่องคราวนี้จะเป็นเรื่องของการเตรียมการทุกคนที่ได้รับหน้าที่ว่าใครจะต้องประจำอยู่ ณ ตรงไหน ตรวจเช็กอุปกรณ์ความปลอดภัยของตัวเองให้พร้อม เปลี่ยนชุดเตรียมให้บริการ เช็กอุปกรณ์ทุกอย่าง อุปกรณ์ความปลอดภัยครบมั้ย ห้องน้ำเป็นยังไง อาหารเป็นยังไง อาหารพิเศษของผู้โดยสารที่ต้องดูแลพิเศษมาหรือยัง พอพร้อมแล้วพี่หัวหน้าแอร์ฯจะบอกว่าเตรียมรับผู้โดยสารได้เลย ทุกคนก็จะมายืนประจำเพื่อต้อนรับผู้โดยสาร” ตลอดทั้งเที่ยวบิน พวกเธอก็ต้องคอยดูแลผู้โดยสารซึ่งใช้กำลังเยอะทีเดียว ทั้งเข็นรถอาหาร เสิร์ฟอาหาร เครื่องดื่ม ดูแลความเรียบร้อย เรียกว่าต้องเดินตลอดการเดินทาง ทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง ฉะนั้นพวกเธอจึงต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ “ชั่วโมงบินมันนาน ตัวเราเองก็ต้องพักผ่อนให้เพียงพอก่อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความดันอากาศ อากาศที่เปลี่ยนแปลง แล้วเราต้องเดินทางอยู่บ่อยๆ เวลานอนก็ไม่เหมือนคนที่ทำงานประจำ ฉะนั้นเราต้องดูแลตัวเองดีๆ ถ้าไม่ไหวไม่สบาย หรือรู้ตัวว่าตัวเองเป็นหวัด ถ้าเป็นหวัดหูอื้อ ก็จะไม่ไป แต่ถ้ายังขืนขึ้นไปนี่อาการหูบล็อกมันอันตราย จะไม่ไปเลยนะคะ เพราะว่านอกจากไม่ดีกับตัวเองยังไปทำให้เพื่อนร่วมงานเหนื่อยขึ้นอีก ถามว่าเหนื่อยมั้ย ชินแล้ว พอกลับมาเราก็พักผ่อนเต็มที่ ทางบริษัทเขาก็จัดวันหยุดให้เรา ในการที่จะทำการบินแต่ละครั้งนี่บริษัทคำนวณไว้แล้ว เขาจะมีอัตราค่าความเหนื่อยให้ว่าเราจะต้องพักผ่อนเท่านี้เพื่อความปลอดภัย เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันถูกควบคุมด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว เราก็ทำหน้าที่ควบคุมตัวเราเองอีกที เพราะบางทีเราไปในประเทศที่ร้อนจัดแล้วไปประเทศที่เย็น เราก็ต้องเตรียมตัว”

• คำแนะนำของแอร์โฮสเตส 

 “สำหรับคนที่อยากเป็นแอร์โฮสเตส ขอให้ตอบตัวเองว่าเรารักงานบริการจริงๆ หรือเปล่า เมื่อตอบได้แล้วให้หาข้อมูลให้มากที่สุด อย่าหยุดฝัน ถ้าเรารู้ว่าวันหนึ่งฝันเราเป็นจริงชีวิตมันก็คุ้มค่า อย่าหยุด อย่าท้อ อย่าคิดว่าเป็นแอร์ฯ ต้องสวยหรือเปล่า ต้องเก่งหรือมั้ย ต้องเรียนเมืองนอกหรือเปล่า อย่าไปคิดอย่างนั้น ไม่ใช่เลย ถ้าคุณมีคุณสมบัติกำหนด บริษัทก็พร้อมจะเลือก ซึ่งเขาเลือกคนดี เลือกคนที่มีความตั้งใจ”

• สิทธิพิเศษของคนเป็นแอร์ 

•มีรายได้รวมสูงกว่าคนทำงานอาชีพอื่นๆ เข้ามาทำงานใหม่ๆ ก็ได้รายได้ประมาณ 40,000-60,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจำนวนรายได้จะขึ้นอยู่กับตารางบินว่าบินระยะใกล้ไกลแค่ไหน ถ้าบินไกล และค้างคืนหลายวันก็ยิ่งได้มาก
• เดินทางไปไหนมาไหนแบบฟรี หรือได้สิทธิ์ในการซื้อตั๋วเครื่องราคาถูกมาก
• สมาชิกในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ภรรยา หรือสามี และลูก สามารถใช้สิทธิ์เดินทางซื้อตั๋วราคาถูกหรือไปแบบฟรีได้ ถ้าไม่สบาย หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างการบิน สายการบินจะมีสวัสดิการประกันสุขภาพ สามารถเบิกรักษาพยาบาลได้ทุกแห่งทั่วโลกที่สายการบินมีจุดลง เป็นต้น

cr: mthai.com

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แอร์-สจ๊วด เส้นทางสู่อาชีพนางฟ้า

แอร์โฮสเตส หรือสจ๊วด เป็นอีกสายอาชีพหนึ่ง ที่อยู่ในความสนใจของหนุ่มสาวมาทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าการก้าวสู่ตำแหน่งนางฟ้าของสายการบินจะยากเย็นเพียงใดก็ตาม แต่ต่อจากนี้ไป เรื่องความฝันของหนุ่มสาวอาจจะไม่ยากเหมือนแต่ก่อนแล้ว เมื่อทุกคนได้ตำราฉบับพิเศษจากทีมงาน EXITBOOK
"เป็น ได้แน่..แอร์ สจ๊วด" พ็อกเก็ตบุ๊คที่รวบรวมเกี่ยวกับเส้นทางสายอาชีพในฝันของหนุ่มสาวหลายคน อาชีพที่หลายคนบอกว่าเท่ห์สุด ๆ เงินค่าตอบแทนสูง แถมได้ท่องเที่ยวไปทั่วโลก และได้ช้อปปิ้งกันเพลินสุด ๆ แต่อีกมุมมองหนึ่ง หลายคนอาจจะมองว่า แอร์-สจ๊วด ก็คือนังแจ๊วบนเครื่องบินดีๆ นี่เอง
แต่ไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็แล้วคนจะมอง ที่แน่นอน "เป็นได้แน่..แอร์-สจ๊วด" เล่มนี้ นำเสนอเรื่องราวที่น่าสงสัยและสิ่งที่หลายคนอยากรู้ได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเปิดสอนการเป็นนางฟ้าบนเครื่องบิน ทั้งภาครัฐและเอกชน ข้อมูลเด็ด ๆ สายการบินไหน "เข้ายากมากๆ " หรือว่า "ค่าตอบแทนสูงสุดๆ" เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังนำเสนอสายการบินชั้นนำแบบเจาะลึก ไม่ว่าจะเป็น Thai Airways, Emirates, JALways และAir Asia เป็นต้น การหาข้อมูลเบื้องต้น คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นแอร์-สจ๊วด การเขียนใบสมัคร การสอบสัมภาษณ์ การสอบว่ายน้ำ และที่น่าสนใจสุด ๆ สำหรับผู้สนใจ ก็คือ การได้อ่านประสบการณ์จริงของแอร์-สจ๊วด ของสายการบิน ชั้นนำ ถือเป็นแนวทาง และเป็นปัจจัยที่จะช่วยในการให้ทุกคนตัดสินใจว่าจะเดินทางนี้ได้อย่างที่ใจ ฝันหรือไม่
และนี่คือตัวอย่างของผู้ที่ผ่านประสบการณ์จริง มาบอกเล่าให้พวกเราได้ทราบกัน
 เกด วันวิสาข์ วงศ์ภูมิ (สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส)
"หน้าที่ของแอร์ ฯ คือการดูแลความปลอดภัย"

"หน้าที่ ของแอร์ฯ หลักจริงๆ ก็คือ ด้านความปลอดภัย เราต้องทำอย่างไรให้ผู้โดยสารเดินทางสู่เป้าหมายปลายทางด้วยความปลอดภัยโดย สวัสดิภาพ ส่วนงานด้านบริการถือเป็นอันดับรองลงมา แต่ต้องทำควบคู่กันไป"
"จริงๆ แล้วไม่อยากให้มองว่าอาชีพนี้เป็นนางฟ้าเลย ถ้ามาเห็นภาพคนทำงานจริงๆ แอร์ฯ ต้องเป็นคนสุขภาพดี มาก ๆ ต้องแข็งแรง รู้จักออกกำลังกาย เวลากิน เวลานอนก็ไม่เหมือนคนปรกติเขา ถึงเวลากินเราต้องทำงาน ถึงเวลานอนเราต้องทำงาน สภาพร่างกายต้องปรับให้ได้"
กวาง ภัทรา ภัทรายุตวรรตน์ (สายการบิน Asiana)
"เป็นแอร์ฯ ต้องมองโลกในแง่ดีและอดทน"

"กวาง ว่าคนที่ทำงานนี้ต้องมีความอดทนมาก ๆ ต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดีมาก ๆ เหมือนแต่ละครั้งที่เราไป ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น การทำงานของเราจะเปลี่ยนเพื่อนร่วมงานไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ว่าแต่ละไฟลท์ต้องเจอกับใคร เราจะเจอคนแปลกใหม่ไปเรื่อยๆ ดังนั้นเวลาทำงานต้องทำใจก่อนว่าในไฟลท์นี้เราจะเจออะไรก็ไม่รู้นะ แต่คิดไปว่ามันต้องดี"
"อยากฝากถึงน้องๆ ที่ต้องการเข้ามาทำงานตรงนี้ อยากให้สำรวจตัวเองดีๆ ก่อนว่าชอบทำงานตรงนี้หรือเปล่า มันอาจจะไม่สวยหรูอย่างที่คิด มันไม่ใช่แค่คุณเดินมาเสิร์ฟอาหารเท่านั้น มันมีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำอีกเยอะ ต้องมีการเทรน กว่าจะผ่านได้แต่ละวิชาก็ไม่ใช่ง่าย ต้องมีการเทรนทางด้าน Emergency มีการร้องห่มร้องไห้กัน มันต้องใช้ความอดทนมาก มันต้องเป็นคนรักจริงๆ นะ"
บุ้ง ตรีนุช เขียนทอง (สายการบิน JALways)
"ต้องดูแลผู้โดยสารเหมือนญาติเรา"

"สำหรับ บุ้ง คิดว่าคนที่มาทำงานนี้ต้องมีการมองโลกในแง่ดี และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่างที่บอกว่าวันไหนไฟลท์เต็ม แล้วเรามัวแต่คิดว่าวันนี้ยุ่ง ๆ เหนื่อยๆ มัวแต่ขออะไรอยู่ได้ ถ้าคิดอย่างนั้นมันจะไม่เป็นผลดีต่อเรา เราเหนื่อย ผู้โดยสารก็ไม่แฮปปี้
"ถ้าเราเห็นยายคนหนึ่งเราต้องคิดว่าเขาคือยายเราจริงๆ งานของเราไม่ใช่แค่การเสิร์ฟข้าวเสิร์ฟน้ำ เราต้องดูแลผู้โดยสารป่วย หรือทำความสะอาดห้องน้ำ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายใจเวลาที่อยู่บนเครื่องบินให้มองผู้ โดยสารเหมือนญาติของเรา ไฟลท์หนึ่งๆ เรามีทั้งลูกหลานของผู้โดยสาร รวมทั้งในเวลาเดียวกัน ก็เป็นแม่ เป็นพี่ด้วย"
คิท ภิรมย์ทิศ ทองแถม ณ อยุธยา (สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส)
"สจ๊วดไม่ได้แค่งานบริการ แต่ต้องบริหารไปด้วย"
"การ ทำงานจริงๆ ต้องปรับตัวบ้างในเรื่องของการทำงาน ส่วนการทำงานบนเครื่องต้องใช้การบริหารเข้ามาช่วยด้วยเพราะไม่ได้มีแค่การ เสิร์ฟเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรู้ถึงจำนวนผู้โดยสาร สิ่งที่จะเสิร์ฟ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของเวลา
แต่ละไฟลท์จะ ต่างกัน เวลาบินต่างกัน จำนวนผู้โดยสารแต่ละวันก็ต่างกัน บางไฟลท์จะมีผู้โดยสารต้องการนู่นนี่ต่างกัน ยิ่งไฟลท์ยาวยิ่งลำบากในเรื่องของเวลาต้องบริหารให้ดีว่าขึ้นไปแล้วต้อง เสิร์ฟอะไรก่อน ซึ่งจะเสิร์ฟอะไรก่อนหลังจะมีไกด์ไลน์ของบริษัทอยู่แล้ว แต่ยากตอนที่เราเสิร์ฟเสร็จแล้วอาหารต้องมาถึงทันที ซึ่งอาหารต้องใช้เวลาอุ่นต่างกัน บะหมี่ต้องอุ่นอย่างหนึ่ง ไข่เจียวก็อุ่นอย่างหนึ่ง ข้าวก็อุ่นอย่างหนึ่ง เราต้องมั่นใจว่ามันร้อนและไม่ไหม้ คือน้ำไปถึงปุ๊บ อาหารต้องไปถึงปั๊บ รถเข็นคันหนึ่งใส่ถาดได้กี่ที่ แล้วต้องออกไปกี่คัน เหลืออีกกี่ที่ที่เราต้องเติมไปอีกด้วจำนวนลูกเรือเท่านี้ ต้องคิดล่วงหน้า และมีการวางแผนทุกวัน"
ต้องยอมรับกันว่า อาชีพแอร์-สจ๊วด เป็นอาชีพทางด้านการบริการ ดังนั้นเรื่องของใจรักในอาชีพ เป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ ที่ผู้สนใจต้องคำนึงว่าตนเอง มีจุดนี้หรือไม่ นอกนั้นแล้ว เรื่องของการมีบุคลิกที่ดี การใช้ภาษาต่างประเทศ สุขภาพกายและสุขภาพใจ ก็เป็นเรื่องต้องคำนึงเช่นกัน
และหากว่าน้อง ๆ มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่อาชีพนี้จริง ๆ เราก็เชื่อว่า คุณบินได้
"we believe you can fly"

ที่มา "การศึกษาวันนี้" ,sanook.com

เส้นทางสู่แอร์โฮสเตส

1 : คำนำหน้าเป็น “นาง” สมัครแอร์ฯ ได้ไหม
A : ส่วนใหญ่แล้วข้อกำหนดของผู้สมัครงานตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน จะมีการระบุไว้ว่า “สถานภาพโสด” ก่อนที่จะสมัครงานตำแหน่งนี้ ถ้าพิจารณาจากสถานภาพโดยนิตินัยแล้ว การที่ผู้สมัครสายการบินนั้นๆ มีการจดทะเบียนสมรสชัดเจน เพราะฉะนั้นคำนำหน้าชื่อ-นามสกุล ก็บ่งบอกแล้วว่า “นาง” คำตอบบอกได้ชัดเจนเลยว่า “ไม่ได้” แต่ถ้าเป็น “นาง” แบบพฤตินัยก็น่าจะได้นะ ข้อกำหนดนี้มีขึ้นอาจจะเป็นเพราะการทำงานจะได้ราบรื่นปราศจากพันธะ แต่ถ้าทำงานไประยะหนึ่งแล้วไปแต่งงานทีหลังก็ไม่มีปัญหา

2 : ถ้าจะสมัครเป็นแอร์ฯ-สจ๊วดต้องได้คะแนน TOEIC อย่างต่ำเท่าไร
A : สำหรับข้อนี้ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่า ต้องการสมัครเข้าไปเป็นลูกเรือในสายการบินไหน สายการบินไทย สายการบินญี่ปุ่น สายหารบินเกาหลีหรือสายการบินตะวันออกกลาง ซึ่งแต่ละสายการบินจะมีมาตรฐานระดับคะแนนสอบ TOEIC ไม่เท่ากัน แต่ในปีนี้ผลคะแนนต่ำที่สุดที่ประกาศรับสมัครออกมา คือ 550 คะแนน ส่วนมากจะอยู่ที่ 650 คะแนน ดังนั้นใครที่ต้องการสมัครหลายสายการบินก็ควรเตรียมตัวสอบให้พร้อมเพื่อสามารถนำผลคะแนนไปใช้ได้ในหลายๆ สายการบิน

3 : ถ้าไม่มีผลสอบ TOEIC แต่มีผลสอบ TOEFL หรือ IELTS อยู่แล้ว ใช้แทนกันได้ไหม
A : บางสายการบินยินดีรับผลคะแนนสอบวัดระดับทางภาษาอังกฤษแบบสากลประเภทอื่นๆ เช่น TOEFL หรือ IELTS โดยทั้ง 2 การสอบอย่างหลังนี้เป็นการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษในเชิงวิชาการเพื่อไปศึกษาต่อขั้นสูงมากกว่าที่จะวัดผลไปเพื่อการทำงาน ความยากง่าย และจุดประสงค์ในการวัดผลค่อนข้างต่างกัน และที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการสอบต่างกันมากๆ การสอบ TOEIC ผู้สอบต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสอบครั้งละ 1,000 บาท แต่ในการสอบ TOEFL ต้องจ่ายค่าสอบ 140 ฿ หรือ IELTS จะต้องจ่ายเงินค่าสอบประมาณ 5,700 บาทต่อครั้ง ใครอยากสอบแบบไหน จ่ายแบบไหน เลือกกันเอาเองเลย

4 : สามารถสอบ TOEIC ได้ที่ไหนบ้าง
A : ศูนย์สอบ TOEIC จะเปิดสอบทุกวันจันทร์-เสาร์ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์สอบกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ตามที่อยู่ดังต่อไปนี้
ศูนย์ TOEIC ประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
ที่ตั้ง : เลขที่ 54 อาคาร Bangkok Business Building (BB Building) ห้อง Suite 1905-1908 ถนนอโศก (สุขุมวิท 21) เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ : 0-2260-7061, 0-2260-7189, 0-2260-7535, 0-2259-8840, 0-2664-3131-2
โทรสาร : 0-2664-3122
E-mail : information@toeic.co.th
สำนักงานเขตภาคเหนือ
ที่ตั้ง : เลขที่ 4/6 อาคารนวรัฐ ชั้น 3 ถนนแก้วนวรัฐ ซอย 3 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000
โทรศัพท์ : 0-5324-8208, 0-5330-6600
โทรสาร : 0-5324-8202
E-mail : toeicnorthern@toeic.co.th
Website : www.toeic.co.th

5 : รู้มาว่า แอร์ฯ-สจ๊วดทำงานเป็นสัญญาจ้าง ปรกติแล้วจะจ้างกันกี่ปี
A : การจ้างงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ปรกติแล้วจะมีสัญญาจ้าง 1 ปี 3 ปี 5 ปี หรือปีต่อปีแล้วแต่ข้อตกลงของสายการบิน เมื่อครบกำหนดแล้วจะมีการพิจารณาการทำงานเพื่อต่อสัญญาจ้างอีกเพราะฉะนั้นในขณะที่ต้องปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบิน พนักงานจะถูกประเมินโดยหัวหน้าระดับสูงด้วย เพื่อที่จะนำผลการประเมินนั้นมาพิจารณาการต่อสัญญาอีก ถ้ามีการลาออกก่อนกำหนดก็ต้องจ่ายค่าปรับเช่นกัน

6 : ถ้าว่ายน้ำไม่เป็นสมัครได้หรือเปล่า
A : สำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นสามารถสมัครเป็นลูกเรือได้ เพราะบางสายการบินไม่ได้ระบุว่าเขาต้องการคนที่ว่ายน้ำได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราก็ควรที่จะทำความคุ้นเคยกับการว่ายน้ำ หรือลงน้ำกันบ้าง เพราะเมื่อเราผ่านการคัดเลือกเข้าไปเป็นพนักงานต้อนรับแล้ว ช่วงที่ต้องฝึกอบรมด้านความปลอดภัย ทุกคนก็ต้องลงน้ำเพื่อช่วยเหลือตัวเองขึ้นบนแพยางให้ได้อยู่ดี เป็นอย่างนี้แล้วใครที่ว่ายน้ำไม่เป็น หรือเป็นโรคกลัวน้ำสุดๆ ขอแนะนำให้ไปทำความคุ้มเคยก่อนมาสมัครก็จะเป็นการดีกว่า เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าจะผ่านขั้นตอนคัดเลือกอื่นๆ มาแล้ว แต่ถ้าเทรนไม่ผ่านก็จบกัน

7 : สามารถทำสีผมได้ไหม
A : ทำสีผมในที่นี้ต้องถามก่อนว่าทำสีผมสีอะไร ส้ม แดง เขียว ทอง สีจัดจ้านทั้งหลายแหล่ก็ไม่ควร แต่ถ้าทำสีแบบสีธรรมชาติก็ได้แน่นอน อย่าลืมว่าเรื่องภาพลักษณ์ภายนอกเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการคัดเลือกเข้าทำงานในอาชีพนี้ด้วย ต้องดูดีตั้งแต่หัวจดเท้า ผมก็ต้องทำให้เป็นทรง ผู้หญิงผมยาวก็ควรรวบผมติดเน็ต ถ้าใครเป็นผู้หญิงผมสั้นมามาดมั่นใจก็ไม่มีปัญหา ขอให้เซตผมให้เรียบร้อย ไม่ทำสี ไม่ไฮไลต์เป็นอันว่าใช้ได้ ส่วนผู้ชายก็ผมสั้นเข้าว่า ไม่ใช่ว่าซอยผมทรงรากไทรก็ไม่เหมาะสม อย่างการบินไทยก็ไม่ควรเซตผมแบบ wet look ด้วย
ดังนั้นเรื่องผมจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญด้วย เพราะเรื่องผมก็นับเป็นเรื่องของการให้คะแนน look ภายนอก ถึงแม้ว่าในบางสายการบินจะอนุญาตให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทำผมทรงไหนก็ได้ แต่เห็นได้ว่าไม่มีใครทำสีผมแบบประเภทสีสันจี๊ดจ๊าด ส่วนผมก็เซตกันเป็นทรงอย่างเรียบร้อย เพราะฉะนั้นตอนสมัครก็ควรดูดีทุกกะเบียดนิ้ว

8 : ควรเตรียมตัวเรื่องอะไรบ้าง
A : การเตรียมตัวเบื้องต้นที่ทุกคนควรจะเตรียมตัวอย่างแน่นอนเลยก็คือ เสื้อผ้า บุคลิกภาพ ภาษา ในเชิงวิชาการเรื่องของภาษาก็ต้องเตรียมสอบ TOEIC ที่ดีควรได้ 650 คะแนน การสอบข้อเขียน การสัมภาษณ์ต้องฝึกพูดให้ชัดเจนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่แล้วมั่นใจที่สุด และเลือกที่สุภาพ เครื่องแต่งกายของแต่ละสายการบินกำหนดให้แต่งกายแตกต่างกันไป สำหรับผู้ชายสายการบินบางแห่งให้ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นกับผูกเนกไท แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะแต่งยังไงดี ให้ยึดตามแบบสากลนิยมเข้าไว้ คือ ใส่สูทสีเข้าชุด หรือใส่เสื้อเชิ้ต ผูกเนกไทบวกกับรองเท้าหนังสีดำก็เรียบร้อยแล้ว
สำหรับผู้หญิงก็รองเท้าส้นสูง 2 นิ้วขึ้นไปเป็นดี มีเสื้อสูทแขนสั้นสวมทับเสื่อเชิ้ตด้านในหรืออาจจะเป็นเสื้อไหมพรหมบางๆ คอเต่า สีเข้ากันกับสูท กระโปรงประมาณเข่า จะผูกผ้าพันคอก็ได้ให้ดูตามความเหมาะสมของสายการบิน (เช่น สมัครเข้า JAL ผูกผ้าพันคอก็โอ.เค.น่ะ)
ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลิกภาพ ต้องฝึกยืนให้ดูดีมีสง่า มั่นใจ ถ้านั่งสัมภาษณ์แล้วนั่งได้หลังตรงจะดีมาก

9 : มีแผลเป็นที่แขนสมัครแอร์ฯ ได้ไหม
A : ไม่ได้มีการห้ามไว้นี่ว่ามีแผลเป็นที่แขนแล้วห้ามสมัคร แต่ถ้าเป็นแผลเป็นที่ปูดโปนชัดเจนนอกร่มผ้าก็คงจะไม่ผ่าน เพราะตรงส่วนแขนเป็นจุดที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด แต่ถ้ามีแผลเป็นเล็กน้อยแล้วรองพื้นเอาอยู่ก็น่าจะใช้ได้ ควรจะดูดีทั้งหมด เนื่องจากผู้โดยสารเองก็คงคาดหวังที่จะเห็นพนักงานต้อนรับที่ดูดีทั้งภายนอกและภายใน

10 : ที่เขาบอกว่ามีการทำ Group Discussion เราควรจะเตรียมตัวยังไงดี
A : ขั้นตอนในการคัดเลือกจะประกอบไปด้วยการสอบข้อเขียน การทดสอบความถนัด Aptitude Test หรือสอบจิตวิทยทางบุคลิกภาพ การสัมภาษณเดี่ยว และการสัมภาษณ์กลุ่ม ซึ่งการสัมภาษณ์กลุ่มก็มีในรูปแบบการอภิปรายในหัวข้อที่กรรมการเตรียมไว้ อาจจะเป็นเรื่องทั่วไปหรือเรื่องสถานการณ์ที่ตั้งไว้ให้ผู้ร่วมกลุ่มช่วยกันแก้ปัญหา
การเตรียมตัวก็ลองสมมุติสถานการณ์ดูหรือลองตั้งหัวข้อ พยายามคิดว่าจะตอบอย่างไร ฝึกการแสดงความคิดเห็น พยายามฝึกการวิเคราะห์และวิจารณ์ เพราะระหว่างการอภิปรายกลุ่ม จะมีคณะกรรมการคอยดูและให้คะแนนด้วย ควรแสดงออกอย่างพอดี ถ้าน้อยเกินไปหรือเด่นซะจนโอเวอร์ไม่ปล่อยให้คนอื่นพูดบ้างก็มีสิทธิ์ถูกตัดคะแนนได้เหมือนกัน

11 : ได้ยินมาว่ามีการ Walk-in คืออะไร และต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
A : ความจริงแล้ววิธีการสมัครมี 3 แบบ ด้วยกัน คือ การสมัคร Online, Walk-in และสมัครทางไปรษณีย์
-การสมัคร Online ถือว่าสะดวกที่สุดและสายการบินส่วนใหญ่ก็เปิดรับสมัครผ่านการออนไลน์แล้ว เพียงแค่กรอกข้อมูลตามขั้นตอนที่กำหนดแล้วแนบไฟล์รูปหรือเอกสารที่แจ้งไว้ ควรจะใช้ e-mail address ที่สามารถใช้ได้อย่างน้อยใช้ต่อได้อีก 1 ปี เพื่อการติดต่อกลับ เพราะสายการบินจะส่ง e-mail หรือจดหมายตอบกลับมา อย่าลืมว่าเมื่อกรอกแล้วต้อง print เอกสารใบสมัครออกมาด้วยและควรจำหมายเลขผู้สมัครของตัวเองให้ได้
-Walk-in ต้องเตรียมเอกสารทุกสิ่งอย่างให้ครบตามที่สายการบินนั้นกำหนด แล้วนำไปตามสถานที่ วัน และเวลาที่ประกาศไว้ พร้อมกับการแต่งกายให้เต็มที่ เรียบร้อยแบบสากลนิยม ส่วนใหญ่แล้ววันที่เปิดให้ Walk-in จะจัดขึ้นตามโรงแรมใหญ่ในกรุงเทพฯ
-สมัครทางไปรษณีย์ ส่งเอกสารที่กำหนดไปตามที่อยู่ ที่สายการบินประกาศไว้ หรือบางสายการบินจะมีบริษัทตัวแทนเป็นผู้ดำเนินการรับสมัคร เอกสารที่ใช้อย่างน้อยก็ต้องเตรียมผลสอบ TOEIC สำเนาทะเบียนบ้าน Transcript สำเนาปริญญาบัตร สำเนาบัตรประชาชน เป็นต้น แล้วจะได้รับการตอบกลับทางโทรศัพท์หรือจดหมายจากสายการบิน

12 : ถ้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง
A : นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับเป็นประจำแล้ว ลูกเรือจะได้รับค่าชั่วโมงบิน ค่าเบี้ยเลี้ยงระหว่างบิน ที่พักเมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างแดน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางและโบนัส นี่ยังไม่รวมถึงค่าซักรีดยูนิฟอร์มที่มีให้นะ นอกจากนี้ยังได้ตั๋วเครื่องบินฟรี (ตามกำหนด) และสิทธิพิเศษต่างๆ กับสายการบิน พร้อมกันนี้สิทธิพิเศษตั๋วเครื่องบินที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัวด้วย ซึ่งครอบครัวในที่นี้ หมายถึง พ่อ-แม่ สามีหรือภรรยาและลูก

13 : มีสายการบินไหนเปิดรับสมัครลูกเรือชาวไทยบ้าง
A : ข้อมูลล่าสุดในปี 2007 ที่มีประกาศ รับลูกเรือชาวไทย ก็มีอยู่สายการบินด้วยกัน เริ่มต้อนจากสายการบินภายในประเทศก่อนกันแล้ว หรับสายการบินในประเทศไทยที่รับสมัครลูกเรือไทย ได้แก่ สายการบินไทยนกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย พีบีแอร์ บางกอกแอร์เวย์ โอเรียนไทยและสัน-ทู-โก
ส่วนสายการบินต่างประเทศที่เปิดรับได้แก่ Gulf Air, Emirates Airline, Etihad Finnair, Kenya Airways, Kuwait airways, Lufthansa, Qantas Qatar, Royal Brunei Airlines, Royal joranian, United Airne, Asiana Airlines, China Airines} Eva AIR, JALways, Jet Airway, Jetstar Internatiomal Airlines, Korean Air, Pakistan Internation Airliones, Sky Star Airways

14 : สายการบินต้นทุนต่ำบางแห่งไม่มีบริการเสิร์ฟน้ำและอาหารบนเครื่องแอร์โฮสเตสจะมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง
A : สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ทำงานกับสายการบินต้นทุนต่ำนั้น มีหน้าที่ต้อนรับผู้โดยสาร ตั้งแต่ก้าวขึ้นบนเครื่องจนกระทั่งเดินลงเครื่องพร้อมทั้งให้ความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร และดูแลผู้โดยสาร บนเครื่องให้เดินทางด้วยความปลอดภัย ในบางสายการบินมีการบริการขายอาหารและเครื่องดื่มแก่ผู้โดยสารด้วย

15 : อายุไม่ครบ 20 ปี แต่เรียนจบปริญญาตรีแล้วสมัครได้หรือเปล่า
A : ไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าเรียนจบปริญญาตรีตามที่เขากำหนดแล้วแต่อายุไม่ถึงก็ต้องรอจนกว่าอายุจะถึงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่รับสมัครคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป เพราะแสดงถึงการบรรลุนิติภาวะและการมีความสามารถรับผิดชอบในระดับหนึ่ง การพิจารณารับสมัครนั้น คุณสมบัติเบื้องต้นของการสมัครต้องพิจารณาประกอบกัน ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งก็ถูกตัดสิทธิ์

16 : ไม่เคยเรียนทางด้านธุรกิจการบิน หรือเรียนคอร์สเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นลูกเรือมาก่อน จะมีโอกาสได้ทำงานไหม
A : ต้องได้สิ เพราะไม่ได้มีการบังคับว่าจะต้องผ่านการเรียนคอร์สในสถาบันก่อนถึงจะมีโอกาสสมัครและได้งาน แต่การเข้าเรียนในสถาบันต่างๆ นั้นถือว่าเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมและช่วยเสริมความมั่นใจก่อนการสมัครจริง คนที่เรียนมาอาจจะได้เปรียบกว่าตรงที่รู้ว่าต้องแต่งตัวอย่างไร ควรตอบสัมภาษณ์อย่างไร เขาอาจจะชินกับการผ่านการจำลองสถานการณ์มากกว่า แต่โอกาสที่จะได้งานทำนั้น ผลตัดสินอยู่ที่ความสามารถ ความมั่นใจ และบุคลิกภาพที่เราจะสามารถนำเสนอต่อกรรมการต่างหาก
แต่เรื่องการเรียนในสถาบัน มีบางคนผ่านการคัดเลือกแล้วก็มีมาเรียนเพิ่มเติมความรู้ด้วยถึงแม้ว่าจะต้องฝึกอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว เรียนรู้ไว้ไม่เสียหาย เพราะอาชีพนี้ทริปยุโรปสุดหรู หรือการลงจอดฉุกเฉินเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

17 : หน้าตาไม่สวย ไม่หล่อสมัครลูกเรือได้หรือเปล่า
A : การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ความสวยหรือความหล่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เรามีความโดดเด่นหากเดินเข้าไปสมัคร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความสวยความหล่อแต่เพียงอย่างเดียวที่จะทำให้เราได้รับคัดเลือก แต่ยังต้องประกอบไปด้วยส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น บุคลิกภาพที่สง่างาม มีจิตใจที่ชอบงานบริการ หรือเป็นคนสุภาพอ่อนโยน ร่าเริงแจ่มใส มีไหวพริบปฏิภาณที่ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถฝ่าฟันด่านการทดสอบต่างๆ ไปได้มากกว่า

18 : ทำงานอาชีพนี้ ทางสายการบินมีการกำหนดวันหยุดอย่างไร
A : ในขณะที่คนอื่นได้หยุดในช่วง Long Weekend แต่คนที่ทำงานในอาชีพนี้ไม่ได้หยุดพักต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น เพราะเป็นช่วงทำรายได้ให้กับสายการบิน เที่ยวบินก็อาจจะเพิ่มขึ้น การทำงานสายการบินนี้ไม่มีวันหยุดแน่นอน ถ้าอยากทำงานตรงนี้ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า วันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์เราก็ต้องทำงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับตารางการบิน
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะต้องบินทุกวันทั้งเดือน เพราะมีการกำหนดชั่วโมงบินไว้ด้วย แถมวันหยุดไม่ได้บินก็มีเวลาพักเดินเล่นต่างประเทศอีกต่างหาก

19 : มีความสามารถมากกว่า 3 ภาษา มีโอกาสได้เป็นลูกเรือมากกว่าคนอื่นหรือเปล่า
A : ในบางสายการบินมีการแจ้งในการประกาศรับสมัครว่า หากรู้ภาษาที่ 3 จะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษนั่นก็หมายความว่ามีโอกาสมากกว่าแน่นอน และเรื่องของการรู้ภาษาที่ 3 จะมีโอกาสพิเศษกว่าก็ต่อเมื่อกรณีที่ผู้สมัครมีคุณสมบัติเท่ากันทุกประการ แต่อีกคนหนึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าในเรื่องของภาษาที่ 3 กรณีนั้นอาจจะถือว่าเป็นโอกาสที่ได้มากกว่า
ส่วนคนที่เข้าไปทำงานเป็นแอร์ฯ-สจ๊วดแล้ว จะมีการติดธงภาษา ซึ่งจะบ่งบอกว่าคนๆ นั้นรู้ภาษาแล้วสามารถสื่อสารภาษาอะไรได้บ้าง ถ้าผ่านการทดสอบภาษาที่รู้เพิ่มเติมก็จะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละสายการบิน)

20 : จะสมัครเป็นลูกเรือสายการบินที่ไหนดีระหว่างสายการบินของเอเชียกับสายการบินต่างชาติ
A : แล้วแต่ความต้องการ แต่เราควรจะดูว่าเราเหมาะสมกับสายการบินไหน สายการบินเอเชียกับสายการบินต่างชาติมีสไตล์แตกต่างกัน คุณสมบัติและลักษณะการรับลูกเรือที่เขาต้องการถึงแม้ว่าจะไม่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรว่าต้องการคนที่มีลักษณะ (เฉพาะ) แบบใด แต่สไตล์คนที่รับต่างกัน เช่น สายการบินเอเชียอาจจะชอบคนที่อ่อนโยน นอบน้อม ในขณะที่สายการบินอื่นๆ ชอบคนที่มีความมั่นใจสูง
ส่วนข้อแนะนำอีกข้อหนึ่งคือ บางสายการบิน มีฐานบินอยู่ที่ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นลูกเรือต้องหอบกระเป๋าไปอยู่ที่นั่นด้วย เช่น สายการบินเอมิเรตส์ที่ลูกเรือจะต้องอยู่ประจำที่ดูไบ หรือ Dubai base แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องความสะดวกสบาย เพราะเขาจัดที่พักลูกเรือไว้อย่างดีและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้ให้อย่างเพียบพร้อมแล้ว แค่ต้องคิดดูว่าตัวเราสามารถอยู่ห่างบ้านได้ไหม เท่านั้นล่ะ

credit : http://www.dek-d.com

คุณสมบัติโดยรวมของผู้ที่จะสมัครเป็น แอร์โฮสเตส – สจ๊วต



1. หากเป็นผู้ชายต้องมีส่วนสูง 165 ซม. ขึ้นไป ผู้หญิงต้องมีส่วนสูง 160 ซม. ขึ้นไป
2. แอร์โฮสเตส และ สจ๊วต ควรมีน้ำหนักที่สัมพันธ์กับส่วนสูง โดยมีอัตราน้ำหนักขั้นต่ำของชาย ต้องลบส่วนสูงด้วย100 / หญิง ลบส่วนสูงด้วย 110
3. มีบุคลิกภาพที่ดี สุขภาพสมบูรณ์ ร่างกายไม่เป็นผู้ทุพลภาพ ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือโรคที่สังคมรังเกียจ และโรคที่อาจเป็นผลเสียในการทำงานบนเครื่องบิน
4. ความรู้ขั้นต่ำ คือควรจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่6 ปริญญาตรีทุกสาขา
5. ถ้าเป็นชายต้องมีใบสำคัญผ่านทหาร
6. อายุของผู้ชายที่จะมาสมัครต้องมีอายุระหว่าง 21 - 28 ปี ผู้หญิงต้องมีอายุ 21 26 ปี อันนี้คือค่าเฉลี่ย แต่ก็มีบางสายการบินเหมือนกันที่จะรับคนที่มีอายุมากกว่านี้
7. ต้องเป็นผู้ที่สายตาดีไม่สั้น แต่ถ้าสายตาสั้นก็สามารถใส่คอนแทคเลนส์ได้ห้ามใส่แว่นตาเด็ดขาด
8. มีสุขภาพฟันดี ถ้าฟันเสียต้องไปทำฟันมาให้เรียบร้อย ควรขูดหินปูนเป็นประจำ
9. ต้องมีความรู้ภาษาต่างประเทศ ภาษาบังคับ คือ ภาษาอังกฤษ มีผลสอบโทอิคอย่างต่ำ 600 คะแนน(จากคะแนเต็ม 990 คะแนน)
10. บางสายการบินอาจให้มีการสอบว่ายน้ำด้วย ดังนั้นผู้ที่จะสมัครควรที่จะว่ายน้ำเป็น
11. ควรหัดแต่งกายให้มีความเคยชิน เพราะการแต่งกายที่ดีทำให้เป็นที่สนใจแก่ผู้ที่พบเห็น ดังนั้นผู้ชายต้องสวมเสื้อเชิ้ตขาว กางเกงสแล็คสีดำ ผูกเน็คไท ส่วนผู้หญิงต้องสวมประโปรงชุดทำงานแบบสาวออฟฟิศ ทำผมให้สุภาพ เช่น รวบผมให้ตึง เก็บมวยผม สวมรองเท้าคัชชูหุ้มส้น สวมถุงน่อง
12. ควรเป็นโสด ผู้หญิงที่มีแฟนแล้วไม่เป็นไร แต่ถ้าจดทะเบียนสมรสแล้วอาจจะหมดสิทธิ์ได้
13. ไม่มีรอยสักในจุดที่มองเห็นได้อย่างเปิดเผย
14. หูไม่ตึง
15.ไม่ติดยาเสพติด
16. ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม

10 เคล็ดลับ เมื่อเลือกเดินทางโดยเครื่องบิน


  หลายท่านที่เดินทางบ่อยๆ เป็นประจำ อาจมองข้ามจุดเล็กๆ น้อยๆ ในการปฏิบัติตัวบนเครื่องบินไป เนื่องจากความเคยชินและคิดว่าไม่น่าจะเป็นอันตรายอะไร  สิ่งเล็ก ๆ น้อยๆ เหล่านี้ที่คุณมองข้ามไป มีอยู่หลายอย่าง ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง เรื่องเล็กน้อยที่เหมือนเส้นผมบังภูเขานั้น อาจจะทำให้เกิดผลกระทบที่คุณคาดไม่ถึงได้ และเพื่อให้เที่ยวบินของคุณราบรื่นและสุขสนุก ตลอดการเดินทาง ลองอ่านและปฏิบัติตามกับเคล็ด (ไม่) ลับ 10 ประการต่อไปนี้ดู ซึ่งไม่ได้ยากเย็นอะไรเลยครับ 
 
1. เลือกเส้นทางบินแบบเทคเดียวจบ
จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบินนั้น ช่วงที่ถือได้ว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ตอนขณะเครื่องขึ้น (takeoff) , เครื่องไต่ระดับ (climb), เครื่องลดระดับ (descent) และช่วงนำเครื่องลง (landing) ฉะนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในโดยสารเครื่องบิน หากเป็นไปได้ ให้เลือกเดินทางในเส้นทางบินที่ non-stop น่าจะดีกว่า นอกจากนี้ยังประหยัดเวลาและไม่เหนื่อยล้า สำหรับการเดินทางของคุณด้วย

2. เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ดีกว่า
ทราบมา ว่า เครื่องบินที่มีที่นั่งมากกว่า 30 ที่ขึ้นไป จำเป็นที่จะต้องผ่านการตรวจสอบตามข้อกำหนดของการบินสากล ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เคร่งครัด สำหรับการออกแบบเครื่องบินที่ปลอดภัยและมีการทดสอบก่อนบินจริง ดังนั้นเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่กว่า ย่อมหมายถึงประสิทธิภาพและสมรรถนะที่ดีกว่าเครื่องบินขนาดเล็ก โอกาสที่จะเกิดปัญหาทางเทคนิคก็น้อยลงนั่นเอง ของแบบนี้ คุณควบคุมไม่ได้ ใช่ไหมครับ?

3. ใส่ใจกับการสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ และวิธีการเพื่อความปลอดภัย
คงจะมีบ้าง ที่คุณคิดว่า ผม/ดิฉัน เดินทางเป็นประจำ รู้อะไรต่างๆ ดี จึงเพิกเฉยกับการสาธิตต่างๆ จากพนักงานต้อนรับบน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แต่ละเที่ยวบินของคุณนั้น คุณอาจจะถูกจัดที่นั่งในที่ที่ต่างไปจากเที่ยวบินก่อนๆ หรือรุ่นของเครื่องบินที่คุณกำลังเดินทางต่างแบบกัน หรือเป็นสายการบินที่ไม่เคยใช้บริการมาก่อน ฉะนั้นทางออกฉุกเฉิน รวมถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ ก็ต้องแตกต่างไปจากที่คุณเคยเห็นแน่นอน สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมสักนิด สละเวลานั่งอ่านหนังสือพิมพ์เฉยๆ ซักไม่กี่นาที เพี่อชมการสาธิต และศึกษาคู่มือความปลอดภัย (Safety Card) ในกระเป๋าหน้าที่นั่งของท่านสักหน่อย อาจจะช่วยชีวิตคุณได้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดนะครับ

4. การเก็บกระเป๋าสัมภาระส่วนตัว
ยิ่งเดินทางไกล หรือเดินทางไปนานๆ กระเป๋าของคุณก็มีน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย สายการบินส่วนใหญ่ จะกำหนดน้ำหนักสัมภาระสำหรับหิ้วขึ้นเครื่องของผู้โดยสารเอาไว้ คุณควรจะปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของคุณเอง การมีสัมภาระที่หนักอึ้งเหมือนภาระชีวิตใครบางคน เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่องเก็บของเหนือศีรษะนั้น สายการบินมีการจำกัดน้ำหนักเอาไว้ แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถชั่งน้ำหนักในเครื่องก่อนเก็บไว้ได้ หากเกิดสภาพอากาศแปรปรวน (turbulence) ที่รุนแรง ช่องเก็บของอาจจะรับน้ำหนักจากการกระแทกของกระเป๋าหนักๆ ไว้ไม่ไหว ทีนี้หล่ะ หัวใครหัวมันครับ

นอกจากนี้บางคนยังวางเก็บกระเป๋าไว้ใต้ขา เพื่อเอาไว้รองขาเวลานอนนั้น จริงๆ แล้วอันตรายครับ หากเกิดสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงมากๆ กระเป๋าอาจจะลอยขึ้นแล้วตกลงมา ทำให้ผู้คนบาดเจ็บได้ จึงขอแนะนำให้นำแต่สัมภาระที่จำเป็น เก็บสัมภาระที่ไม่จำเป็นหรือหนักเกินไป โหลดเข้าเก็บในกระเป๋าใหญ่ ส่งไปใต้เครื่องดีกว่าครับ


5. รัดเข็มขัดนิรภัย ปลอดภัยที่สุด
นอกจากจำ เป็นต้องรัดเข็มขัดนิรภัยขณะเครื่องขึ้นและลงแล้วนั้น ระหว่างการเดินทาง ควรรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะนั่ง ถึงแม้มันอาจจะอึดอัดและไม่สบายตัว แต่การปฏิบัติเช่นนี้เป็นการป้องกันตัวคุณเองจากการตกหลุมอากาศแบบกระทันหัน ซึ่งบางครั้ง เป็นไปได้ที่นักบินไม่สามารถทราบได้จากหน้าจอเรดาห์

6. รับฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำจากลูกเรือ
นอกเหนือจากหน้าที่ที่พนักงานต้อนรับ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าแอร์กับสจ๊วต จะดูแลและบริการคุณระหว่างการเดินทางแล้วนั้น การดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร ก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของพวกเขาด้วย ดังนั้นหากคุณได้รับการร้องขอหรือแจ้งให้ปฏิบัติ ก็ทำตามคำแนะนำและคำขอจากพวกเขาด้วย เช่นให้รัดเข็มขัดนิรภัย, เก็บสัมภาระไว้ในช่องเก็บของเหนือศีรษะ, ปรับพนักพิงหลังให้ตรง ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้ ล้วนเพื่อความปลอดภัยของคุณและผู้โดยสารคนอื่นๆ ทั้งสิ้น

7. ของร้อนโปรดระวัง
ระหว่างเที่ยวบินของคุณ แน่นอนที่สุด ที่พนักงานต้อนรับจะต้องให้บริการท่านด้วยชาและกาแฟร้อน หรือแม้แต่น้ำร้อนๆ ที่ผู้โดยสารขอ ดังนั้นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการถูกน้ำร้อนลวก บางสายการบิน พนักงานจะมีถาดไว้ให้คุณวางถ้วยกาแฟ กรุณารอจนพนักงานรินให้คุณเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วคุณจึงหยิบถ้วยกาแฟด้วยความระมัดระวัง หรือบางสายการบินไม่มีถาด แต่จะรินลงแก้วให้คุณโดยตรง อันนี้ต้องระวังครับ ควรรอให้พนักงานรินเสร็จเสียก่อน จึงค่อยดึงแก้วกลับมา มิเช่นนั้น กาแฟร้อนๆ อาจจะรดลวกตักคุณกลางอากาศได้ และบนเครื่องเอง ก็ไม่ใช่โรงพยาบาลเคลื่อนที่ด้วยซิ

8. ดื่มพอเป็นพิธี
เนื่องจากระหว่างการเดินทาง เครื่องบินนั้นต้องบินอยู่ในระดับความสูงที่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก ภายในห้องโดยสารจึงต้องมีการปรับความดันให้คนเราสามารถอาศัยได้อย่างสบาย แม้จะมีการปรับสภาพแล้วก็ตาม ภายในห้องโดยสารก็ยังเปรียบได้กับสภาพบนภูเขาสูง อากาศจะเบาบางกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้น เป็นผลทำให้คุณเมาเร็วกว่าปกติ และเสี่ยงต่อการจับตัวเป็นก้อนของเลือดในเส้นเลือดของคุณ นำไปสู่อาการของโรคชั้นประหยัด (Economy Class Syndrome) ฉะนั้นจึงควรดื่มของมึนเมาแต่พอประมาณ และดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ
 

9. เขตปลอดวัตถุอันตราย
มีวัตถุหลายรายการที่เป็นสิ่งต้องห้ามบนเครื่องบิน เป็นการดีที่คุณจะศึกษาข้อมูลเหล่านี้ ก่อนเดินทาง ปกติแล้วคุณสามารถหาอ่านได้ ในตั๋วเดินทางของคุณ วัตถุที่ต้องห้ามต่างๆ เช่น แก๊สพิษ น้ำมันก๊าซ วัตถุไวไฟ สารทำละลาย เป็นต้น ทั้งนี้มีบางรายการที่ได้รับการยกเว้น หรือนำติดตัวไปได้ในจำนวนจำกัด

10.
หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดฟัน
เช่น จำเป็นต้องออกจากเครื่องโดยเร็ว หรือลี้ภัยฉุกเฉิน (evacuation)
คุณต้องปฏิบัติตามคำสั่งของลูกเรือโดยเคร่งครัด เพราะลูกเรือเหล่านั้น ได้รับการฝึกมาให้รับมือ
กับสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้ว ดังนั้นคุณจึงควรควบคุมสติให้ดี แล้วพยายามหาทางออกที่ใกล้ตัวที่สุด และออกจากเครื่องบินให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และเมื่อออกจากเครื่องไปแล้ว ให้หนีห่างออกจากเครื่องบินให้ไกลที่สุด วิธีเหล่านี้ คุณได้ศึกษามาแล้วจากการชมการสาธิตของลูกเรือ และจากเอกสารคู่มือความปลอดภัยในกระเป๋าหน้าที่นั่งนั่นเอง
        อย่าคิดว่าการที่จะพูดถึงหรือใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้จะเป็นลางไม่ดี และหลายคนบอกว่า "เรื่องอย่างนี้ใครๆ ก็รู้ " แต่จะมีสักกี่คนที่จะปฏิบัติตาม การที่จะทำตามหรือไม่ ก็แล้วแต่หล่ะครับ หากคุณคิดว่า 10 ประการข้างต้น ไม่ได้หนักหนาเกินไปที่จะใส่ใจกับมัน คุณก็จะมีความสุขแม้กระทั้งเข้าห้องน้ำบนเครื่องแหละครับ!!

credit :  http://www.tourlok.com/Traveltip/10tipsonboard.html